แบตเตอรี่ โฟล์คลิฟท์ รถยกไฟฟ้าและเครื่องชาร์จ

แบตเตอรี่ โฟล์คลิฟท์ รถยกไฟฟ้าและเครื่องชาร์จ

รถโฟล์คลิฟท์เป็นเครื่องทุ่นแรง....

              ที่ใช้กันมากในโรงงาน​ โกดัง ตลอดจนร้านค้าขนาดใหญ่ มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นอยู่กับเนื้องานและปริมาณของงานที่ต้องทำได้ในแต่ละช่วงเวลา การบำรุงรักษาโฟล์คลิฟท์ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนัก เป็นการซ่อมบำรุงดูแลความแข็งแรงทั่วๆ ไป ยกเว้นส่วนที่แพงที่สุดในตัวรถยก นั่นก็คือ แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า นี่คือส่วนพิเศษเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่ต้องการความใส่ใจอย่างมาก เพื่อให้เลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม เพิ่มความคงทนและประสิทธิภาพในการทำงาน

รถโฟล์คลิฟท์แนะนำ

แบตเตอรี่รโฟล์คลิฟท์ หรือ Traction Battery.....​

         เป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่มีอายุการใช้งานจำกัด แต่จะสั้นหรือยาวแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแบตเตอรี่และการบำรุงรักษาที่ถูกวิธี ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก็คือ รูปแบบในการบำรุงรักษา ความถี่ในการใช้งาน จำนวนแบตเตอรี่ที่จำเป็นต้องใช้ต่อรถยกหนึ่งคัน และความถี่ในการชาร์จแบตเตอรี่

           ไม่ว่าข้อมูลสินค้าจะระบุว่าแบตเตอรี่แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อจะมีอายุการใช้งานเท่าไร เราสามารถยืดอายุเหล่านั้นออกไปได้ด้วยการดูแลที่ถูกวิธี อันที่จริงก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาไม่นาน เพียงแต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

แบตเตอรี่รถโฟล์คลิฟท์แนะนำ

วิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องในการใช้งานและบำรุงรักษาแบตเตอรี่โฟล์คลิฟท์

ส้นค้าเเนะนำ

1. เติมน้ำกลั่นจน “มาก” หรือ “น้อย” กว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด

            ในแบตเตอรี่ทุกรุ่นจะมีการขีดค่าระดับน้ำกลั่นที่เหมาะสมเอาไว้อยู่แล้วระหว่างใช้งาน เราเพียงแค่เติมให้ได้ตรงตามที่กำหนด อย่าคิดไปเองว่าเติมน้ำกลั่นให้มากเข้าไว้จะดีกว่า หรือเติมน้ำกลั่นให้มากเข้าไว้จะได้ไม่ต้องเติมบ่อย แบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะค่าความถ่วงจำเพาะในแบตเตอรี่แปรผันตรงตามปริมาณน้ำกลั่น เซลล์แบตเตอรี่จำเป็นต้องทำงานในสภาพความเข้มข้นของกรดที่เหมาะสมเท่านั้น หากค่าความเข้มข้นต่ำหรือสูงไป ประสิทธิภาพที่ได้ย่อมลดน้อยลงและยังกระตุ้นให้แบตเตอรี่สึกหรอได้ง่ายด้วย และการเติมน้ำกลั่นให้มากเข้าไว้ ก็ไม่ได้ช่วยให้ช่วงห่างของการเติมน้ำกลั่นรอบใหม่ยืดยาวออกไป เพราะความร้อนที่เกิดขึ้นในขณะใช้งานรถยกจะทำให้น้ำที่กระเซ็นออกมามีกรดปนมา ค่าความเข้มข้นของกรดจึงลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว แถมยังก่อให้เกิดสนิมที่ตัวรถอีกด้วย

2. การใช้งานรถยกจนแบตเตอรี่เหลือไฟภายในต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

            กรณีนี้อยากให้ลองนึกถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จะมีข้อกำหนดไว้ว่าถ้าไม่อยากให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าที่ควร อย่าปล่อยให้แบตหมดเกลี้ยงจนเครื่องดับ ให้ชาร์จได้ทันทีที่แบตเตอรี่เหลือน้อย เช่นเดียวกันกับแบตเตอรี่รถยก โดยปกติจะมีค่ากำหนดไว้ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไรที่ถึงระดับนี้ก็ควรชาร์จไฟใหม่ทันที หากฝืนใช้ไปอีกจะเป็นการทำงานเกินขีดจำกัด ส่งผลให้เซลล์แบตเตอรี่เสื่อมสภาพลง เมื่อมีเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดซ้ำบ่อยครั้ง เซลล์แบตเตอรี่ก็จะเสียหายจนใช้งานไม่ได้ในที่สุด ในการทำงานปกติจึงจำเป็นต้องมีแบตเตอรี่สำรองเอาไว้ให้เพียงพอต่อช่วงเวลาทำงาน เมื่อแบตเตอรี่ลูกไหนถึงเวลาต้องชาร์จจะได้เปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่เสียงาน ในกรณีที่ฝืนใช้จนแบตเตอรี่หมดจริงๆ ให้แก้ไขเฉพาะหน้าด้วยการนำไปชาร์จไฟเพิ่มภายใน 24 ชั่วโมง

3. ละเลยการตรวจวัดค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำกรดในแบตเตอรี่

            อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า แบตเตอรี่ต้องทำงานในสภาพค่าความเข้มข้นของกรดที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงค่าความถ่วงจำเพาะนี่เอง เมื่อไรที่ค่านี้ลดน้อยลงหรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน นอกจากศักยภาพของแบตเตอรี่จะไม่สมบูรณ์พร้อมแล้ว ยังเร่งให้เกิดความเสื่อมในเซลล์แบตเตอรี่อีกด้วย ดังนั้นจึงต้องตรวจวัดค่าความถ่วงจำเพาะอยู่เสมอ โดยตรวจตอนที่แบตเตอรี่มีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้องเท่านั้น เพราะถ้ายังร้อนอยู่ค่าที่วัดออกมาจะคลาดเคลื่อนไป

4. ชาร์จเสร็จ ใช้งานทันที

          ตามปกติช่วงเวลาที่ทำการชาร์ตแบตเตอรี่ จะมีความร้อนเกิดขึ้นและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับสูง พร้อมทั้งคงสภาพนั้นไปจนกว่าการชาร์จจะเสร็จสิ้นลง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 8 – 24 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แล้วแต่ว่าแบตเตอรี่ลูกนั้นมีขนาดความจุเท่าไร และเครื่องชาร์จมีศักยภาพในการชาร์จไฟมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่การนำแบตเตอรี่ไปใช้งาน กระบวนการจ่ายไฟที่เกิดขึ้นในเซลล์แบตเตอรี่ก็ทำให้เกิดพลังงานความร้อนขึ้นเช่นเดียวกัน หมายความว่าถ้านำแบตเตอรี่ที่ชาร์จเสร็จใหม่ๆ อุณหภูมิยังคงอยู่ในระดับสูงไปใช้งานทันที ก็จะยิ่งเพิ่มค่าความร้อนให้กับแบตเตอรี่ลูกนั้นเป็นเท่าทวีคูณ และสภาพแบบนั้นก็เป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ แน่นอนว่าประเด็นนี้หลายคนรู้ดีอยู่แล้ว แต่ปล่อยปละละเลยไป อาจจะด้วยการทำงานที่บีบบังคับ บางช่วงบางตอนต้องเร่งรีบมากและจำเป็นต้องทำงานต่อเนื่องยาวนาน เมื่อแบตเตอรี่หมดก็เอามาชาร์จ เมื่อชาร์จเสร็จก็เลยต้องเอาไปใช้ทันที แต่สิ่งนี้ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการเตรียมแบตเตอรี่สำรองให้พอดีกับการใช้งาน โดยยึดตามช่วงเวลาที่พีคที่สุดของเนื้องานเป็นหลัก

5. เร่งใช้งานจนชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็ม

           ความทนทานในการใช้งานหรืออายุการใช้งานของแบตเตอรี่เกือบทุกประเภท มักกำหนดมาด้วยจำนวนครั้งของการชาร์จไฟเพิ่ม อย่างเช่นแบตเตอรี่รถยกไฟฟ้าจะสามารถชาร์จไฟเพิ่มได้ 1200-1500 ครั้ง จากนั้นก็จะหมดสภาพต้องเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ลูกใหม่ หากการชาร์จแต่ละครั้งไม่ว่าจะชาร์จจนเต็มหรือไม่ ก็นับเป็นครั้งที่ทำการชาร์จอยู่ดี เมื่อชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็ม พอเอาไปใช้ ไฟก็หมดเร็วกว่าช่วงเวลาที่ทำงานได้ตามปกติ จากนั้นก็ต้องเอากลับมาชาร์จใหม่อีก นับเพิ่มเป็นการชาร์จไฟอีก 1 ครั้ง พูดง่ายๆ ก็คือจำนวนครั้งที่แบตเตอรี่ยังคงสามารถชาร์จไฟเพิ่มได้ลดน้อยลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาร์จไฟใส่แบตเตอรี่ไม่เต็ม ก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดการใช้งานเกินขีดจำกัดที่กำหนด และนั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เซลล์แบตเตอรี่เสื่อมด้วยเช่นกัน

6. เลือกใช้แบตเตอรี่ไม่เหมาะสมกับขนาดของงาน

            รถยกทั้งหมดจะมีการแสดงค่าแบตเตอรี่ที่แนะนำเอาไว้อยู่แล้ว ความจริงถ้าเลือกใช้ตามนั้นก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่เกิดการใช้แบตเตอรี่ขนาดกำลังน้อยกว่า ทำให้แบตเตอรี่จ่ายไฟไม่เพียงพอและยังทำงานเกินตัวไป แบตเตอรี่นั้นจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และยังส่งผลกระทบต่อรถยกด้วย เพราะกระแสไฟที่ไม่เพียงพอนั้นทำให้เกิดความเสียหายในวงจรได้ นอกจากนี้หากในเนื้องานจริงมีการใช้งานรถยกค่อนข้างหนัก ก็สามารถเลือกแบตเตอรี่ที่มีขนาดกำลังใหญ่กว่าที่กำหนดเล็กน้อยได้ สิ่งสำคัญก็คือต้องสร้างสมดุลระหว่างกำลังของแบตเตอรี่กับเนื้องานที่ต้องทำนั่นเอง

7. แบตเตอรี่มีความสกปรกและเปียกชื้น

            แม้ว่าแบตเตอรี่อาจจะอยู่ในส่วนที่สกปรกได้ง่าย แต่ก็ต้องเอาใจใส่ดูแลเรื่องความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ระวังเรื่องความเปียกชื้นเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าทุกชนิดนั่นเอง และต้องกำจัดสิ่งสกปรกออกไปเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่งผง คราบน้ำมัน ขี้เกลือ เพราะทั้งหมดอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในส่วนของเซลล์แบตเตอรี่ได้ อาจร้ายแรงจนถึงขั้นลัดวงจร เป็นอันตรายทั้งต่อรถยกและผู้ใช้งาน

8. เก็บแบตเตอรี่ไว้ไม่ได้ใช้และไม่ดูแล

            ในการทำงานจริงจำเป็นต้องมีแบตเตอรี่สำรองมากเพียงพอเทียบกับช่วงเวลาเร่งรีบที่สุด ดังนั้นก็มีโอกาสที่แบตเตอรี่บางส่วนจะถูกเก็บเอาไว้ ไม่ถูกนำมาใช้งานเป็นเวลานาน แบตเตอรี่กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน สถานที่เก็บต้องเหมาะสม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป ไม่มีความชื้นและฝุ่นละออง เพื่อให้เซลล์แบตเตอรี่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมสำหรับการใช้งานเสมอ และเมื่อจะนำมาใช้งานอีกครั้งก็ต้องทำการตรวจเช็คค่าต่างๆ ให้ดีก่อนว่า สิ่งใดพร่องไปบ้าง สิ่งใดชำรุดเสียหายไปบ้าง สุดท้ายเป็นเรื่องธรรมดาของอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด คือต้องมีไฟหล่อเลี้ยง แม้จะไม่ได้หยิบมาใช้หลายเดือน ก็ต้องทำการชาร์จไฟเพิ่มให้กับแบตเตอรี่ทุกๆ เดือนด้วย

วิธีการชาร์จแบตเตอรี่ที่ถูกต้อง

        สิ่งแรกที่ต้องรู้และวางแผนก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการชาร์จแบตเตอรี่ก็คือ ต้องรู้ช่วงเวลาของการทำงาน ปริมาณของเนื้องาน และปริมาณของแบตเตอรี่ที่ต้องใช้ในแต่ละรอบ เพื่อวางแผนการชาร์จให้พอดี ป้องกันการเร่งรีบต่างๆ ที่จะส่งผลเสียต่อแบตเตอรี่ เช่น การชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็ม เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการชาร์จแบตเตอรี่

– รถยกหนึ่งคันควรจะมีเครื่องชาร์จหนึ่งตัวเสมอ เพื่อความราบรื่นในการทำงานและป้องกันไม่ให้เครื่องชาร์จทำงานหนักเกินไป

– ไม่ทำให้เกิดประกายไฟขณะที่ทำการชาร์จในทุกกรณี เพราะแบตเตอรี่มีส่วนที่ติดไฟได้อยู่ด้วย

– ชาร์จแบตเตอรี่ทันที่ที่ไฟคงเหลือถึงขีดที่กำหนด ห้ามฝืนใช้เกินขีดจำกัดนี้ไป

– ถ้าตรวจวัดค่าความถ่วงจำเพาะหรือค่าความเข้มข้นของน้ำกรดแล้ว พบว่ามีค่าสูงกว่า 1.22 ขึ้นไป และไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานแบตเตอรี่อีกในวันถัดไป ก็ไม่ต้องชาร์จไฟเพิ่มก็ได้

– หมั่นตรวจสอบและบันทึกค่าของน้ำกรดและกำลังไฟของแบตเตอรี่เสมอ ทั้งก่อนและหลังจากการชาร์จ เพื่อสังเกตดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น

– ขณะที่ทำการชาร์จ แบตเตอรี่จะมีความร้อนสูงมาก จำเป็นต้องรอให้แบตเตอรี่ลดความร้อนลงมาที่อุณหภูมิห้องเสียก่อน จึงจะนำไปใช้ได้

– ก่อนทำการชาร์จไฟเพิ่ม ต้องตรวจวัดให้แน่ใจก่อนว่าค่าน้ำกรดที่มี ไม่ต่ำกว่า 1.14

– ตรวจสอบระดับน้ำกลั่น ให้อยู่ในระดับที่มีขีดระบุเอาไว้ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะมีผลเชื่อมโยงไปถึงค่าความถ่วงจำเพาะของแบตเตอรี่ด้วย และเมื่อค่าความถ่วงจำเพาะไม่เหมาะสมก็ต้องงดการชาร์จเอาไว้ก่อน

– คอยดูแลเรื่องของอุณหภูมิขณะที่ทำการชาร์จด้วย โดยต้องไม่เกินไปกว่า 50 องศาเซลเซียส

– งดการใช้ระบบชาร์จไฟแบบต่อเนื่องหรือ equalizing หากพบว่าค่าของน้ำกรดในแต่ละเซลล์แบตเตอรี่มีความแตกต่างกันมากเกินไป

– เปิดฝาครอบแบตเตอรี่เอาไว้ เพื่อช่วยให้การระบายความร้อนเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องปิดส่วนของช่องเซลล์แบตเตอรี่เอาไว้เสมอ

– สามารถชาร์จแบตเตอรี่ในขณะที่ยังมีไฟเหลืออยู่ได้ หากรู้แล้วว่าไฟที่เหลือนั้นไม่เพียงพอกับการทำงาน แต่อย่างไรก็ตามควรมีแบตเตอรี่สำรองเอาไว้อย่างเพียงพอแล้วตั้งแต่ต้น ให้กรณีนี้เป็นงานที่ไม่ได้คาดหมายเอาไว้จะดีกว่า ไม่ควรทำเป็นปกติ เนื่องจากจะให้ผลใกล้เคียงกับการชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็มนั่นเอง